วันอังคารที่ 19 มีนาคม 2024 เวลา 09 : 20 น.
Masjid News
You are here: Home >> บทความศาสนา >> ซะกาต >> มัสยิดฮิดายาตุดดีนียะฮ์ รับจัดการซะกาตฟิฏเราะฮ์ (บัยตุ้ลมาล)
มัสยิดฮิดายาตุดดีนียะฮ์ รับจัดการซะกาตฟิฏเราะฮ์ (บัยตุ้ลมาล)

มัสยิดฮิดายาตุดดีนียะฮ์ รับจัดการซะกาตฟิฏเราะฮ์ (บัยตุ้ลมาล)

มัสยิดฮิดายาตุดดีนียะฮ์ รับจัดการซะกาตฟิฏเราะฮ์ (บัยตุ้ลมาล)

            ทางมัสยิดฮิดายาตุดดีนียะฮ์ บ้านเกาะใหญ่ รับจัดการซะกาตฟิฏเราะฮ์ (บัยตุ้ลมาล) เพื่อจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์ ให้กับผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับต่อไป ซึ่งซะกาตฟิฏเราะฮ์มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            ซะกาตฟิฏรฺ ถูกตราเป็นบัญญัติขึ้นเพื่อเป็นสิ่งขัดเกลาและชำระล้างผู้ที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ให้ปราศจากบาปอันเกิดจากคำพูดที่ไร้สาระและหยาบคายที่อาจเกิดขึ้นในขณะ ปฏิบัติศาสนกิจอันนี้
ทั้งยังเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แก่ผู้ยากจนขัดสนในการบริจาคอาหาร เพื่อพวกเขาจะได้อิ่มหน่ำสำราญ ไม่ต้องขอวิงวอนจากผู้ใดในวันตรุษ(วันอีด)นั่นเอง

            ซะกาตฟิฎเราะฮฺ  ตามมติฉันท์ของอุละมาอ์ถือเป็นฟัรฏู(จำเป็น) ดั่งรายงานจากท่านอิบนุอุมัร กล่าวว่า :

           “ท่านเราะซูล  ได้กำหนดการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺเป็นผลอินทผลัมจำนวน  1  ทะนาน(ศออ์) หรือข้าวบาเล่ย์จำนวน  1  ทะนาน  จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนมิว่าจะเป็นทาส  เป็นไท  ชาย  หญิง เด็กหรือผู้ใหญ่  และท่านได้สั่งใช้เรื่องดังกล่าวนี้ให้ทุกคนปฏิบัติมันให้เสร็จสิ้นก่อนที่ผู้คนทั้งหลายจะออกไปสู่การละหมาด(อีดุลฟิฏรีย์)”  (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์)

           สำหรับบุคคลที่ลำบาก  เขาไม่ต้องจ่ายฟิฏเราะฮฺโดยปราศจากทัศนะใดๆที่ขัดแย้ง  ส่วนกรณีผู้ที่มีอาหารเพียงน้อยนิด คือมีแค่อาหารที่เขาเก็บไว้ใช้บริโภคสำหรับคืนก่อนวันอีดและวันอีด เช่นหากมีข้าวสารจำนวนเท่ากับจำนวน  1  ศออ์ขึ้นไป  ย่อมถือว่าผู้นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถจ่ายได้  แต่หากเขาไม่มีข้าวสารหรืออาหารใดๆเลยในเวลาดังกล่าวนั้นถือว่าเขาคือผู้ลำบาก  และไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตในขณะนั้น  เพราะไม่ครบเงื่อนไขที่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตคือครบจำนวนนิศอบของซะกาต  นี้คือทัศนะของบรรดาอุละมาอ์ส่วนใหญ่(ญุมหูร)ซึ่งมีเพียงนักวิชาการสายมัซฮับหะนะฟีย์เท่านั้นที่เห็นต่างออกไป

           สรุป คือบรรดาอุละมาอ์ส่วนใหญ่ถือว่าหากบุคคลใดมีอาหารหรือข้าวสารไม่ครบนิศอบ(คือ 1 ศออ์ขึ้นไป)ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ  ในที่นี้รวมถึงทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาก็ไม่ต้องจ่าย  แต่หากผู้ปกครองสมัครใจจะจ่ายให้ย่อมถือเป็นซุนนะฮฺ เนื่องจากมีปรากฏการกระทำของท่านอุษมาน  บินอัฟฟาน ซึ่งตรงกับทัศนะของบรรดานักวิชาการสายมัซฮับหัมบะลีย์

           สำหรับคนใช้มิว่าเพศหญิงหรือชาย ที่ถูกจ้างวานให้ทำงานโดยมีค่าตอบแทนเป็นรายวัน หรือรายเดือนก็ตาม  กรณีนี้นายจ้างไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบการจ่ายซะกาต เพราะถือเป็นผู้มีอาชีพรับจ้าง ซึ่งต้องรับผิดชอบตัวเอง  แต่หากนายจ้างใจบุญประสงค์จะจ่ายซะกาตแทนให้ ก็กระทำได้แต่จำเป็นต้องบอกกล่าวให้ลูกจ้างรับทราบด้วย เพราะการจ่ายซะกาตถือเป็นอิบาดะฮฺอย่างหนึ่ง  การกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นการแสดงถึงความเมตตาต่อลูกจ้างนับเป็นการกุศลที่ผู้กระทำย่อมได้รับการตอบแทนความดีอย่างแน่นอน

อัตราของซะกาตฟิฏเราะฮฺ

           อัตราซะกาตฟิฏเราะฮฺ คือ   1  ศออ์(ทะนาน)จากชนิดอาหารหลักที่ใช้บริโภคในประเทศ   จำนวน   1  ศออ์ของท่านนบี ศ็อลฯเท่ากับ  4   มุด ( หรือ  4  กอบมือขนาดปานกลาง) นักวิชาการบางท่านให้ทัศนะว่าเท่ากับ  2.5  กิโลกรัม และบางท่านก็เทียบเท่ากับ  3   กิโลกรัม

           ทั้งนี้จากรายของท่านอิบนุอุมัร ว่า : ท่านเราะซูล ได้กำหนดซะกาตฟิฏเราะฮฺเท่ากับผลอินทผลัม  1  ศออ์ หรือข้าวบาเล่ย์   1  ศออ์ บังคับสำหรับมุสลิมทั้งที่เป็นทาสและเป็นไท  ชาย-หญิง หรือเด็กและผู้ใหญ่  โดยท่านได้สั่งให้ปฏิบัติมันให้เสร็จสิ้นก่อนที่ผู้คนจะเดินทางออกไปละหมาด” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์)

สามารถจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยเงินแทนอาหารได้หรือไม่  ?

           มัซฮับชาฟิอีย์เห็นว่าไม่อนุญาติให้จ่ายเป็นอย่างอื่นนอกจากอาหาร  ซึ่งใช้บริโภคประจำวันในประเทศเท่านั้น

 มัซฮับมาลิกีย์เห็นตรงกับมัซฮับชาฟิอีย์เช่นกัน คือให้จ่ายได้เป็นอาหารเท่านั้น

          สำหรับนักวิชาการในสายมัซฮับหัมบะลีย์  เช่นอิบนุกุดามะฮฺกล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-มุฆ์นีย์” ว่า “หากผู้ใดสามารถจ่ายเป็นผลอิมทผลัม  ผลองุ่นแห้ง   ข้าวสาลี   ข้าวบาเล่ย์หรือเนยแข็งได้ แต่ใช้สิ่งอื่นแทน การกระทำเช่นนั้นย่อมไม่ถูกอนุญาติ”

 กล่าวอีกว่า “สำหรับเราแล้ว คือตามที่ท่านนบีได้กำหนดเป็นทานฟิฏเราะฮฺด้วยชนิด(อาหาร)ที่เจาะจงเฉพาะ  มิอาจเทียบเป็นสิ่งอื่นได้ รวมทั้งการออกเป็นราคาอาหารก็เช่นกัน เพราะการที่เอ่ยถึงชนิดอาหาร หลังจากกล่าวถึงบทบัญญัติ เท่ากับเป็นการอธิบายได้อย่างดีถึงสิ่งที่พึงปฏิบัติ”

           สำหรับทัศนะที่แตกต่างไปจากนี้ เช่นท่านอิบนุตัยมียะฮฺ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ) ถือว่าสามารถเทียบค่าของอาหาร(ซะกาตฟิฏเราะฮฺ)นั้นและจ่ายเป็นตัวเงินได้  ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่าหากเป็นผลประโยชน์สำหรับบรรดาคนยากจนเอง  ดังปรากฏในตำราของท่าน คือ “อัล-ฟะตาวา อัลกุบรอ”

 ส่วนทัศนะของมัซฮับหะนาฟียะฮฺ ถือว่า สามารถจ่ายเป็นเงินได้ในทุกกรณี
เวลา และสถานที่จ่ายซะกาตฟิฎเราะฮฺ

           คือให้จ่ายในช่วงเวลาก่อนการละหมาดอีด  สำหรับอุละมาอ์สายมัซฮับมาลิกียะฮฺ และหะนาบีละฮฺอนุญาติให้จ่ายล่วงหน้าก่อนวันอีดสัก  2-3 วันได้

           ส่วนอุละมาอ์สายชาฟิอียะฮฺมีทัศนะว่าสามารถจ่ายได้ตั้งแต่เริ่มเข้าเดือนรอมฏอน  แต่ที่ดีที่สุดควรจ่ายก่อนการละหมาดอีด

           เช่นกันตามทัศนะของอุละมาอ์สานหะนาฟียะฮฺ อนุญาติให้จ่ายในเวลาก่อนเดือนรอมฏอนได้  ดังนั้นหากใครไม่จ่ายกระทั่งเวลาล่วงเลยจนหมดรอมฏอนไปแล้ว ถือว่าบุคคลนั้นยังมีภาระและบาปติดค้างคาอยู่กับตัวที่เขาจำเป็นต้องสะสาง  คือหากชดใช้เมื่อความผิดบาปก็หมดไปเมื่อนั้น

           สำหรับเรื่องสถานที่จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺนั้น  มีปรากฏในตำรา “อัล-มุเดาวะนะฮฺ” ถามว่า หากบุคคลผู้นั้นเป็นชาวแอฟริกา และเขาเดินทางมายังประเทศอียิปต์ในช่วงที่ต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺพอดี  เขาจะต้องจ่ายซะกาตที่ไหน ? อิม่ามมาลิกตอบว่า“เขาอยู่ที่ไหน ก็ให้จ่ายที่นั้น  แต่หากครอบครัวของเขาที่แอฟริกาจะจ่ายแทนให้แก่เขา  ก็ถือว่าสามารถทำได้”

           เช่นกันท่านอิบนุกุดามะฮฺ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ)ให้ทัศนะว่า ในกรณีของซะกาตฟิฏเราะฮฺนั้นจำเป็นต้องแจกจ่ายไปในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่เท่านั้น  ไม่ว่าสมบัติของเขาจะมีอยู่ในประเทศนั้นหรือไม่ก็ตาม”

           ซึ่งทัศนะที่หนักแน่นที่สุดของอุละมาอ์สานชาฟิอียะฮฺ  คือซะกาต(ฟิฏเราะฮฺ)มิสามารถเคลื่อนย้าย(ไปจ่ายในอีกท้องที่หนึ่งได้)  ส่วนทัศนะรองถือว่าอนุญาติทำได้ทั้งนี้เพื่อให้ถึงแก่บรรดาคนยากจน(ฟุกอรออ์)เป็นสำคัญตามที่ปรากฏในอายะฮฺ  ซึ่งเป็นทัศนะของบรรดาอุละมาอ์มากมายหลายท่านด้วยกัน เช่นคำกล่าวของท่านอัร-รูยานีย์ในหนังสือ “อัล-บะห์รุ” ว่า  : อนุญาติให้เคลื่อนย้ายได้แน่นอน  สำหรับบุคคลที่ประสงค์จะจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺของเขาให้แก่ญาติซึ่งอยู่ต่างถิ่น  ทั้งที่ในประเทศที่เขาอาศัยอยู่นั้นก็มีคนยากจนอยู่  โดยมีเงื่อนไขว่าประเทศที่เขาอาศัยอยู่ขณะนั้นต้องไม่เดือดร้อนหรือจำเป็น(ต่อซะกาต)มากกว่า  แต่หากความจำเป็นเท่าๆกันระหว่างญาติของเขากับคนยากจนในท้องที่นั้น  ก็ให้เขาแบ่งครึ่งและแจกจ่ายไปทั้งสองฝ่ายนั้นได้ – อัลลอฮุอะอ์ลัม .

           บรรดาอุละมาอ์สายหะนาฟียะฮฺกล่าวว่า : อนุญาติให้ปฏิบัติได้หากประเทศที่เขาส่งซะกาตไปนั้นมีความจำเป็นมากกว่า  โดยเฉพาะในประเทศดังกล่าวนั้นมีญาติอาศัยอยู่ และญาติก็มีฐานะลำบากด้วย

 แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าซะกาตนั้นจะต้องถึงไปยังคนยากจนก่อนเวลาละหมาดเป็นสำคัญ

 

ผู้มีสิทธิรับซะกาต
อัลเลาะห์ ( ซบ. ) ทรงกำหนดผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะรับซะกาตได้ไว้ 8 จำพวก ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า
( انما الصدقات للفقراءوالمســاكين والعاملين عليهاوالمؤلفة قلوبهم وفي الرقاب والغارمين وفي ســبيل الله وابن الســبيل فريضة من الله والله عليم حكيم )
ความว่า “ ซะกาตนั้เป็นกรรมสิทธิ์ของคนยากไร้ คนขัดสน เจ้าหน้าที่ซะกาต ผู้ที่ศรัทธาใหม่ สำหรับการไถ่ตัว คนมีหนี้สิน สำหรับวิถีทางแห่งอัลเลาะห์ และคนที่เดินทาง เป็นข้อกำหนดจาดอัลเลาะห์ และอัลเลาะห์ทรงรอบรู้ และทรงวิทยปัญญา ”
ซะกาตจำเป็นจะต้องจ่ายให้กับบุคคล 8 จำพวก โดยที่ไม่อนุญาตที่จะจ่ายให้กับบุคคลนอกเหนือจากที่กล่าว และ 4 จำพวกแรกเป็นจำพวกที่จะได้รับซะกาตโดยไม่มีเงื่อนไข แต่สำหรับ 4 จำพวกที่สองมีสิทธิ์ได้โดยมีเงื่อนไข ซึ่งหากไม่มีเงื่อนไขตามที่กำหนด ก็หมดสิทธิ์ในการรับซะกาต

และเราจะได้อธิบายถึงผู้ที่มีสิทธิ์ในการรับซะกาตทั้ง 8 จำพวกตามลำดับ ที่อายะห์กุรอ่านได้อธิบายไว้
1. คนยากไร้ ซึ่งในภาษาอาหรับใช้คำว่า ฟูก้อร้ออ์ เป็นคำพหูพจน์ หมายถึง ข้อกระดูกสันหลัง แต่จุดมุ่งหมายในที่นี้หมายถึง ผู้ที่ไม่มีทรัพย์สิน และมีรายได้ไม่พอกับความต้องการที่จำเป็น ดังที่ท่านร่อซู้ล ( ซล. ) กล่าวว่า “ เขาไม่มีโชคในทรัพย์ และไม่มีรายได้ที่เพียงพอ ”
และไม่พอเพียงในที่นี้หมายถึง ไม่พอเพียงในปัจจัยยังชีพ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพฐานะ โดยที่ไม่เป็นการสุรุ่ยสุร่าย หรือตะหนี่ เช่น ผู้ที่จำเป็นต้องการเงินในการใช้จ่าย 10 ปอนด์ แต่สามารถหาได้เพียง 2 หรือ 3 ปอนด์ โดยที่จะไม่พิจารณาว่าเขาครอบครองทรัพย์สินถึงพิกัดหรือไม่ แต่จะพิจารณาความสามารถในการหาปัจจัยได้ในแต่ละวัน
ถ้าหากเขามีอาชีพ แต่เป็นโรคที่ไม่สามารถไปทำงานได้ หรือไม่มีงานให้ทำ หรือมีงานแต่เป็นงานที่ไม่เหมาะสม ก็อนุญาตให้รับซะกาตได้ เพราะถือเป็นคนยากไร้
ยังไม่ออกจากคำนิยามว่ายากไร้ ถ้าเขามีบ้าน เสื้อผ้าอาภรณ์ที่เหมาะสมตามสภาพ หรือแม้กระทั่งการมีเสื้อผ้าหลายชุด
และยังถือว่าเป็นผู้ยากไร้ หากเขามีทรัพย์สินที่อยู่ในสภาพที่มีระยะทางห่างจากที่เขาอยู่มากกว่า 85 กิโลเมตร ให้รับซะกาตได้ เพื่อไปถึงสถานที่ที่ทรัพย์สินอยู่
และไม่ห้ามที่จะรับซะกาตสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าหนี้ ที่กำหนดระยะเวลาใช้หนี้ที่ไม่มีทรัพย์สิน นอกเหนือจากทรัพย์ที่ถูกขอยืม

และไม่ห้ามที่จะรับซะกาตผู้ที่มีทรัพย์สินที่ได้มาจากอาชีพที่ฮ่ารอม หรืออาชีพที่ไม่เหมาะสมสภาพของการเป็นผู้มีจริยธรรม เพราะถือว่าทรัพย์สินที่ได้มานั้นเสมือนว่าเขาไม่มีทรัพย์สิน เนื่องจากเนื้อหาของฮ่าดีษที่กล่าวในข้างต้นบ่งบอกว่า จะต้องเป็นผู้มีอาชีพสุจริต และมีอาชีพที่เหมาะสม
และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับบทบัญญัติอิสลาม และมีรายได้จากงานดังกล่าวแต่ไม่พอเพียง ก็สามารถรับซะกาตได้
กล่าวไว้ในหนังสือ อัลอันวารว่า “ และถ้าเขามีรายได้จากการประกอบ พร้อมกันนั้นเขาก็สอนอัลกุรอ่าน หรือสอนวิชาที่เป็นฟัรดูกีฟายะห์ หรือเป็นผู้ที่เรียนสิ่งดังกล่าว โดยที่การเรียนหรือสอนทำให้ขาดรายได้ ก็อนุญาตให้รับซะกาตได้ แต่ถ้าเรียนสิ่งที่เป็นสุนัตไม่อนุญาตให้รับซะกาต เพราะการเรียนการสอนสิ่งที่เป็นสุนัตให้คุณค่าน้อยกว่าสิ่งที่เป็นฟัรดูกีฟายะห์
และไม่ถูกตั้งเป็นเงื่อนไขสำหรับผู้ยากไร้ในการรับซะกาตว่าเขาจะต้องเป็นโรคเรื้อรังไม่สามารถประกอบอาชีพได้
มัสฮับยะดีดเห็นว่า การที่ผู้ยากไร้ไม่กล้าขอรับซะกาต เป็นเงื่อนไขในการจ่ายซะกาตให้กับเขา ดังที่อัลเลาะห์ ( ซบ. ) ทรงตรัสว่า ( وفي أموالهم حق للســائل والمحروم )
ความว่า “ และในทรัพย์สินของพวกเขา มีกรรมสิทธิ์ของผู้ที่มาขอ และผู้ที่ไม่กล้าขอ ” และท่านร่อซู้ล ( ซล. ) กล่าวว่า การจ่ายซะกาตให้กับผู้ที่มาขอรับ และผู้ที่ไม่กล้าขอรับซะกาต และก็จ่ายให้ผู้ที่ไม่เป็นโรคเรื้อรัง
มัสฮับก้อดีมเห็นว่า การเป็นโรคเรื้อรังและการไม่กล้าขอรับ เป็นเงื่อนไขในการจ่ายซะกาตให้ เพราะผู้ไม่เป็นโรคสามารถประกอบอาชีพได้ ส่วนผู้ที่ไม่กล้าขอรับซะกาต เมื่อใดที่มาขอก็จะได้รับ
ส่วนผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเพียงพอจากบุคคล เช่น จากญาติใกล้ชิด หรือสามี ไม่ถือว่าเป็นผู้ยากไร้หรือขัดสน

และจะไม่จ่ายซะกาตที่เป็นส่วนของผู้ยากไร้ หรือขัดสนให้กับทั้งสอง เพราะถือว่ามีรายได้ที่เพียงพอ ตามทัศนะที่ถูกต้องที่สุด
มุมมองที่สองเห็นว่า บุคคลสองประเภทที่กล่าวมาถือเป็นผู้ยากไร้ โดยพิจารณาว่าเป็นผู้ที่ไม่มีทรัพย์สิน และไม่มีอาชีพ อีกทั้งยังต้องพึ่งผู้อื่น

2. ผู้ขัดสน ( มาซากีน ) คือผู้ที่สามารถประกอบอาชีพที่เหมาะสม และสุจริตตามบทบัญญัติ แต่ไม่พอเพียงต่อความต้องการที่จำเป็น โดยที่เขาจำเป็นต้องใช้ 10 ปอนด์ แต่หาได้ 7 หรือ 8 ปอนด์ ถึงแม้จะมีทรัพย์สินถึงพิกัด
อีหม่ามฆอซาลีกล่าวไว้ในหนังสืออัลเอี๊ยฮ์ย๊าว่า “ คนขัดสนคือ ผู้ที่รายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย ถึงแม้เขามีทรัพย์สินอื่น 1,000 ดีนาร แต่ผู้ที่มีรายได้สมดุลกับรายจ่าย ถึงแม้เขาจะมีเพียงจอบกับเชือก ก็ถือว่าไม่เป็นผู้ขัดสน และการพิจารณาว่าเป็นผู้ขัดสนหรือไม่ พิจารณาจากสภาพความเหมาะสม โดยไม่สุรุ่ยสุร่าย หรือตระหนี่
ข้อพึงสังเกต
จะเห็นได้ว่า คนขัดสนนั้นมีสถานภาพที่ดีกว่าคนยากไร้ ดังที่อัลเลาะห์ ( ซบ. ) ทรงตรัสว่า ( أما الســفينة فكانت لمســاكين )
ความว่า “ สำหรับเรือนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ที่ขัดสน ” โดยที่อัลเลาะห์ ( ซบ. ) ทรงเรียกผู้ที่เป็นเจ้าของเรือว่า คนขัดสน และท่านร่อซู้ล ( ซล. ) ขอดุอาว่า “ ขออัลเลาะห์ ( ซบ. ) ทรงให้ข้าพระองค์ และประชาชาติของข้าพระองค์เป็นคนขัดสน ” ขณะที่ท่านขอว่าอย่าให้เป็นคนยากไร้
และจะไม่ออกจากความหมายขัดสน สำหรับผู้ที่มีเครื่องเรือน หรือมีเสื้อผ้ากันหนาว ที่จะนำไปใช้ในฤดูร้อน เช่นเดียวกัน นักนิติศาสตร์ที่มีบรรดาหนังสือนิติศาสตร์ สำหรับการเรียนการสอนที่ได้รับค่าตอบแทน เช่นเดียวกัน

ครูที่มีหนังสือ 2 เล่มในวิชาเดียวกัน โดยที่เล่มหนึ่งเป็นตัวบท และอีกเล่มเป็นอรรถาธิบาย ให้เก็บไว้ทั้งสองเล่ม แต่ถ้าไม่เป็นครูให้เก็บเล่มที่อรรถาธิบายเอาไว้
เช่นเดียวกัน แพทย์ที่มีหนังสือเกี่ยวกับวิชาแพทย์จำนวนมาก ใช้ในการรักษาโรค และค่อตีบที่มีหนังสือเกี่ยวกับการตักเตือนเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับผู้ที่มีหนังสือเพื่อความบันเทิง ไม่เข้าอยู่ในความหมายของคนขัดสน เช่น หนังสือประวัติศาสตร์ หรือบทกวี

3. เจ้าพนักงานเกี่ยวกับซะกาต คือผู้ที่อีหม่าม หรือตัวแทนแต่งตั้งให้เป็นผู้เก็บรวมรวมซะกาต เจ้าของซะกาต และรวมถึงผู้จดบันทึกเกี่ยวกับซะกาต ผู้จัดสรรซะกาต ผู้คำนวณ คนชั่ง คนตวง คนนับ จะได้รับซะกาตเป็นการตอบแทนจากงานที่ได้รับมอบหมาย
ถ้าเจ้าของซะกาตเป็นผู้จ่ายซะกาตเอง หรือมอบให้อีหม่ามเป็นผู้จ่าย พนักงานซะกาตก็จะไม่ได้รับซะกาตในส่วนนี้
อีหม่าม กอฎี และผู้ว่าการแคว้นที่เป็นผู้เก็บและแจกจ่ายซะกาต ไม่เข้าอยู่ในความหมายของพนักงานซะกาต และไม่มีสิทธิ์ในการรับซะกาต แต่จะนำทรัพย์สงครามมาให้เป็นค่าตอบแทน หากการทำงานของอีหม่ามไม่ใช่แบบจิตอาสา เพราะงานของอีหม่ามถือเป็นการสร้างประโยชน์ต่อสังคม คอลีฟะห์อุมัรก็ไม่ยอมรับซะกาต ดังการบันทึกของบัยฮะกีด้วยสายรายงานที่แข็งแรงว่า “ อุมัรบุตรคอตฏอบได้ดื่มนม และมีผู้บอกกับเขาว่า นมนั้นเป็นซะกาต อุมัรล้วงคอเพื่อให้อาเจียน ”
4. ผู้ที่ศรัทธาใหม่ คือผู้ที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม โดยจิตใจยังไม่มั่นคง จ่ายซะกาตให้เพิ่มทำให้มีความศรัทธาที่มั่นคงขึ้น หรือผู้ที่เข้ารับอิสลามและมีศรัทธาที่มั่นคง เป็นผู้ที่มีอำนาจหรือมีอิทธิพล หรือเป็นที่ยอมรับในหมู่พวกเขา การจ่ายซะกาตให้คนกลุ่มนี้ก็เพื่อเป็นการเชิญชวนให้ผู้อื่นเข้ารับอิสลาม และการเชื่อว่าเป็นผู้ที่ถูกยอมรับ หรือมีอิทธิพลด้วยการสาบาน
ตามทัศนะที่ชัดเจนเห็นว่า ผู้ที่ศรัทธาใหม่เป็นผู้มีสิทธิ์ในการรับซะกาต ดังพระดำรัสของอัลเลาะห์ ( ซบ. ) ว่า
“ และผู้ที่ศรัทธาใหม่ ” ซึ่งเป็นทัศนะของอีหม่ามนาวาวีที่กล่าวในหนังสือเราเฎาะห์
ทัศนะที่สองเห็นว่า ไม่ต้องจ่ายซะกาตให้กับคนกลุ่มนี้ เพราะอัลเลาะห์ ( ซบ. ) มีเกียรติยศไม่ต้องใช้ทรัพย์สินเพื่อที่จะให้ผู้คนเข้ารับอิสลาม
ทัศนะที่สามเห็นว่า เอาทรัพย์สินสงครามจ่ายให้ เพราะถือว่าเป็นผลประโยชน์ต่อสังคม
ผู้ที่เข้ารับอิสลามใหม่จะได้รับซะกาตก่อนผู้ที่เข้ารับอิสลามก่อนหน้า แต่จะไม่จ่ายซะกาตเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากผู้มีอำนาจ ตามฉันทามติ เพราะอัลเลาะห์ ( ซบ. ) ทรงให้อิสลามเป็นศาสนาที่มีเกียรติยศ และดังที่ท่านร่อซู้ล ( ซล. ) กล่าวกับมู่อ๊าซว่า “ จงสอนพวกเขาว่า พวกถูกกำหนดให้ออกซะกาต โดยเอาจากคนรวยให้กับคนยากจน ”
5. การไถ่ตัวทาส ที่เป็นทาสมุกาตับ คือทาสที่ทำสัญญาอย่างถูกต้องกับนาย โดยที่จะต้องหาเงินมาไถ่ตัวตามราคาที่ตกลงกันเป็นงวด ซึ่งมุกาตับได้รับซะกาตเพื่อเป็นการไถ่ตัว โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ที่ไม่สามารถจ่ายค่างวดได้ และอนุญาตให้จ่ายซะกาตเพื่อให้ทาสมุกาตับนำไปจ่ายค่างวดก่อนกำหนดได้

แต่จะไม่จ่ายซะกาตให้ทาสมุกาตับที่สามารถจ่ายค่างวดได้เอง และจะไม่จ่ายซะกาตให้ทาสมุกาตับที่ทำสัญญาที่ไม่ถูกต้อง และจะไม่นำซะกาตของนายจ่ายให้กับมุกาตับนั้น

6. ผู้ที่มีหนี้สิน แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
6.1 ผู้เป็นหนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
6.2 เป็นหนี้เพื่อระงับความบาดหมางข้อพิพาทของเพื่อนบ้าน
6.3 เป็นหนี้เนื่องจากเป็นผู้ประกันบุคคล
ผู้เป็นหนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว คือ ผู้ที่มีหนี้สินในการใช้จ่ายสำหรับตัวเอง และผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง โดยที่จะต้องเป็นเรื่องที่ไม่ผิดต่อหลักการอิสลาม เช่น เป็นหนี้เพื่อทำฮัจย์ ทำญิฮาด แต่งงาน เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องนุ่งห่ม ก็ให้รับซะกาตในส่วนของผู้มีหนี้สิน แต่จะไม่จ่ายซะกาตให้กับผู้ที่มีหนี้สินในเรื่องที่ผิดบัญญัติศาสนา เช่น เพื่อซื้อของมึนเมา เพื่อการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย หรือ ทำลายทรัพย์สินผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม
อีหม่ามนาวาวีกล่าวว่า ตามทัศนะที่ถูกต้องที่สุดเห็นว่า จ่ายซะกาตให้กับผู้ที่มีหนี้สินในเรื่องที่ผิดบัญญัติศาสนา หลังจากที่กลับตัวแล้ว เพราะการเตาบะห์จะยกเลิกฮู่ก่มที่แล้วมา
ทัศนะที่สองเห็นว่า ไม่จ่ายซะกาตให้ เพราะการเตาบะห์อาจเพื่อรับซะกาตเท่านั้น
ตามทัศนะที่ชัดเจนเห็นว่า การจ่ายซะกาตให้ผู้ที่มีหนี้สิน จะต้องมีเงื่อนไขว่า เขาไม่สามารถใช้หนี้ได้ด้วยตัวเอง เพราะความจำเป็น แต่ถ้าสามารถใช้หนี้ได้ด้วยตัวเอง ก็ไม่จ่ายซะกาตให้
อีหม่ามรอฟีอีกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญคือ ต้องมีการวิจัยถึงความหมาย หรือขนาดของความจำเป็น โดยให้ทัศนะว่า สิ่งที่ใกล้ความถูกต้องที่สุดคือ ความเห็นของนักนิติศาสตร์รุ่นหลังที่ว่า จะไม่พิจารณาว่า ความยากจนหรือขัดสนคือความจำเป็น แต่จะพิจารณาถึงความสามารถในการจ่ายค่าเลี้ยงดู และการใช้หนี้ หากหลังจากจ่ายค่าเลี้ยงดูแล้วยังมีทรัพย์สินในการใช้หนี้ได้บางส่วน ก็ให้รับซะกาตเพื่อใช้หนี้ส่วนที่เหลือ

และอีหม่ามนาวาวีกล่าวว่า ตามทัศนะที่ถูกต้องที่สุดเห็นว่า การครบกำหนดใช้หนี้เป็นเงื่อนไข การจ่ายซะกาตให้
ผู้เป็นหนี้จากการขจัดข้อพิพาท คือ ผู้ที่เป็นหนี้อันเนื่องจากการขจัดข้อพิพาท ระหว่างคนสองคนหรือสองกลุ่ม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสงบ ให้จ่ายซะกาตส่วนของผู้มีหนี้สินสำหรับนำไปใช้หนี้ที่เกิดขึ้น ถึงแม้เขาจะมีเงิน การค้า หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ตาม มีผู้กล่าวว่า หากเขามีทรัพย์สินก็จะไม่จ่ายซะกาตให้ เพราะการใช้หนี้ไม่เป็นเรื่องยากสำหรัเขา
สามารถตอบคำกล่าวได้ว่า ความหมายของผู้มีหนี้สินในอายะห์ ไม่ได้กำหนดสถานภาพของผู้เป็นหนี้ หากตั้งเงื่อนไขว่าผู้เป็นหนี้จะต้องเป็นผู้ยากจน ก็จะไม่มีใครต้องการที่จะช่วยเหลือกัน แต่ถ้าผู้เป็นหนี้ในกรณีที่สามารถใช้หนี้จากทรัพย์สินเขาได้ ก็จะไม่จ่ายซะกาตให้
ผู้เป็นหนี้จากการค้ำประกันบุคคล จะได้รับซะกาตในส่วนของผู้เป็นหนี้ หากผู้ค้ำประกัน และผู้ถูกค้ำประกันไม่สามารถใช้หนี้ได้ แต่ถ้าทั้งสองสามารถใช้หนี้ได้ ก็จะไม่จ่ายซะกาตให้
แต่ถ้าเป็นหนี้เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น สร้างมัสยิด สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล อยู่ในฮู่ก่มเดียวกันกับการเป็นหนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว จะจ่ายซะกาตให้โดยพิจารณาความสามารถ หากไม่สามารถใช้หนี้ได้ ก็จ่ายซะกาตให้เพื่อใช้หนี้

7. วิถีทางของอัลเลาะห์ ( ซบ. ) นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า วิถีทางของอัลเลาะห์ ( ซบ. ) ในอายะห์หมายถึง สงครามญิฮาด และการเจาะจงวิถีทางของอัลเลาะห์ ( ซบ. ) คือ ญิฮาด เพราะญิฮาดเป็นวิถีทางที่จะทำให้ยอมรับและไปถึงอัลเลาะห์ ( ซบ. )

ซะกาตในส่วนวิถีทางของอัลเลาะห์ ( ซบ. ) จะจ่ายให้กับนักรบอาสาสมัครในสงครามปกป้องศาสนา ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือเงินเดือนจากทางการ ถึงแม้จะเป็นผู้ที่มีฐานะ ตามความหมายของอายะห์ เพื่อเป็นการเชิญชวนให้ออกสงคราม
สำหรับนักรบที่ได้รับค่าตอบแทน หรือเงินเดือนจากทางการ ก็จะไม่จ่ายซะกาตในส่วนนี้ให้ ดังที่อับดุลเลาะห์ บุตร อับบาสกล่าวว่า “ ผู้ที่ได้รับทรัพย์จากสงครามไม่ใช่ผู้ที่ได้จะรับซะกาต และผู้ที่ได้รับซะกาตก็ไม่ใช่ผู้ที่จะได้รับทรัพย์จากสงคราม ในสมัยที่ท่านร่อซู้ล ( ซล. ) ยังมีชีวิตอยู่ ”
ผู้ที่ได้รับทรัพย์จากสงคราม คือ ผู้ที่ทางการระบุชื่อไว้ในบัญชี
กล่าวไว้ในหนังสืออัลบะนารว่า “ อนุญาตให้นำซะกาตส่วนของวิถีทางของอัลเลาะห์ ( ซบ. ) ใช้ในการประกันความปลอดภัย สำหรับเส้นทางการเดินทางเพื่อทำฮัจย์ หรือการจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับฮุจญาจ หากซะกาตในส่วนนี้มีเหลือหลังการแจกจ่าย
และวิถีทางของอัลเลาะห์ ( ซบ. )นอกจาก หมายถึง นักรบ และยังหมายถึง ประโยชน์ส่วนรวมในแง่ของบทบัญญัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมยุทโธปกรณ์ทางการสงคราม เครื่องอุปโภคบริโภคนักรบ และยังรวมถึงการสร้างโรงพยาบาล การตัดถนนหนทาง และการใช้จ่ายเกี่ยวกับการเผยแพร่ศาสนา

       8. คนเดินทาง คือ ผู้ที่ทรัพย์สินหมดในที่เขาอยู่ระหว่างการเดินทาง และมีความจำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อให้ถึงจุดหมายหรือกลับภูมิลำเนา
ข้อพึงสังเกต
การเป็นผู้เดินทางที่สามารถรับซะกาตในส่วนของผู้เดินทาง ( อิบนุซะบีล ) ต่อเมื่อเขาหมดค่าใช้จ่าย ณ. สถานที่ที่ไม่ใช่จุดมุ่งหมาย ตามฉันทามติ และผู้ที่มีเจตนาที่จะเดินทางก็สามารถรับซะกาตในส่วนนี้ได้ ด้วยการเทียบเคียง
เงื่อนไขในการจ่ายซะกาตให้กับผู้เดินทาง

1. ความจำเป็น โดยที่ไม่สามารถหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อได้ เว้นแต่เงินซะกาต ถึงแม้จะมีทรัพย์สินอยู่ที่อื่น
2. การเดินทางที่อยู่บนพื้นฐานของความภักดี เช่น ไปทำฮัจย์ หรือเยี่ยมเยือน หรือเป็นการเดินทางที่อนุญาต เช่น เดินทางเพื่อการค้า แต่ถ้าเป็นการเดินทางที่ผิดหลักการศาสนา จะไม่จ่ายซะกาตให้ เว้นแต่มีการเตาบะห์

เงื่อนไขของผู้มีสิทธิ์รับซะกาต
เงื่อนไขของผู้มีสิทธิ์รับซะกาตทั้ง 8 ประเภทมีดังต่อไปนี้
1. อิสลาม ดังนั้นจะไม่นำซะกาตจ่ายให้กับกาเฟร ตามฉันทามติ นอกจากซะกาตุลฟิตร์ ดังการบันทึกของบุคอรีและมุสลิมว่า ท่านร่อซู้ล ( ซล. ) กล่าวว่า “ ซะกาตจะถูกเก็บจากมุสลิมที่รวย และจ่ายให้กับมุสลิมที่ยากจน ”
2. จะต้องไม่อยู่ในตระกูลฮาชิม หรือลูกหลานอับดุลมุตตอเล็บ ถึงแม้จะไม่ได้รับส่วนจากทรัพย์สงคราม ดังการบันทึกของมุสลิมว่า ท่านร่อซู้ล ( ซล. ) กล่าวว่า “ ซะกาตนี้ไม่เป็นสิ่งที่อนุญาตสำหรับมูฮำหมัด และวงศ์วานของมูฮำหมัด ” ตอบรอนีบันทึกว่า ท่านร่อซู้ล ( ซล. ) กล่าวว่า “ ซะกาตไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับพวกท่าน เพราะพวกท่านมีส่วนในทรัพย์สงครามที่เพียงพอสำหรับพวกท่าน ”
และลูกหลานของฮาชิม และมุตตอลิบที่ถูกปล่อยให้เป็นอิสระชน ก็ไม่อนุญาตให้รับซะกาต ตามทัศนะที่ถูกต้องที่สุด ดังการบันทึกของติรมีซีและผู้บันทึกอื่นว่า “ และคนในหมู่พวกเขาที่เป็นทาส ”
มุมมองที่สองเห็นว่า อนุญาตให้รับซะกาต เพราะสาเหตุของการห้ามซะกาต คือ ความมีเกียรติ แต่ผู้ถูกปล่อยจากความเป็นทาส เป็นผู้ที่ขาดเกียรติยศ

3. อิสระชน ไม่อนุญาตจ่ายซะกาตให้กับทุกประเภท นอกจากทาสมุกาตับ

4. อยู่ในถิ่นที่จ่ายซะกาต
5. เป็นผู้ที่ไม่ได้รับค่าเลี้ยงดู จึงไม่อนุญาตจ่ายซะกาตให้กับหญิงที่มีสามีเลี้ยงดู หรือเด็กที่พ่อจ่ายค่าเลี้ยงดู
ผู้ที่ไม่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูให้พ่อ เนื่องจากพ่อแข็งแรงและทำงานได้ อนุญาตให้จ่ายซะกาตในส่วนของผู้ยากจนให้กับเขาได้หรือไม่ ? อิมาดุดดีน บุตร ยูนุสเห็นว่า ไม่อนุญาตจ่ายซะกาตให้กับเขา กามาลุดดีน บุตร ยูนุสเห็นว่า อนุญาตจ่ายซะกาตให้ และอิบนุชุบฮะห์เห็นว่า ไม่มีแง่ที่ห้ามไม่ให้รับซะกาต
         อิบนุบัรซีย์เห็นว่า ไม่อนุญาตจ่ายซะกาตให้กับคนชั่วที่เมื่อได้รับซะกาตแล้ว นำไปทำในสิ่งที่ผิดหลักศาสนา
อัลมัรวะซีย์กล่าวว่า ไม่อนุญาตให้เก็บหรือจ่ายซะกาตสำหรับคนตาบอด การเก็บหรือการจ่ายซะกาตจะต้องมีตัวแทน
อิบนุซซอลาห์กล่าวว่า ทัศนะนี้ไม่ถูกต้อง เพราะผู้คนปฏิบัติตรงข้ามกับที่กล่าวมา

One comment

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*