อินนาลิ้ลลา วะอินนาอิลัยฮิรอญิอูน ท่านจุฬาราชมนตรี สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) แล้ว เมื่อเช้านี้(24มี.ค.53) ขณะนี้ มายัตอยู่ที่ โรงพยาบาล กรุงเทพ
ร่วมละหมาด ญานาซะฮ์ ให้กับท่านจุฬา ในวันพรุ่งนี้(25 มี.ค.53) ณ. มัสยิด อัลฮุสนา หนองจอก (มัสยิดเจียรดับ)
อ.สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ได้รับคัดเลือกเป็นจุฬาราชมณตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย ท่านเป็นนักวิชาการศาสนามีลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ เพราะท่านเป็นคนใกล้ชิดของอดีตจุฬารุ่นก่อนมาแล้วถึง 3 ท่าน คือ ท่าน อาจารย์ แช่ม พรหมยงค์ อาจารย์ต่วน สุวรรณศาสตร์ และท่านอาจารย์ประเสริฐ มะหะหมัด
ขณะเข้ารับตำแหน่งจุฬาราชมณตรีท่านมีอายุถึง 80 ปี ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์มากในเกือบทุกด้าน ในอดีตท่านเคยเป็น ส.ส. กรุงเทพฯ และบำเพ็ญประโยชน์ให้กับพี่น้องมุสลิมในด้านต่างๆมากมาย
ประวัติและผลงานของ
ฯพณฯ สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์
จุฬาราชมนตรี
ประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ประวัติ
ฯพณฯ สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๔๕๙ สมรสกับนางชื่น สุมาลยศักดิ์ (ถึงแก่กรรม)
การศึกษา
– มัธยมศึกษาปีที่สาม (เทียบเท่า ม.3) โรงเรียนราษฎร์ดรุณศึกษา ปี พ.ศ.๒๔๗๔
– โรงเรียนมาฮัลลุดดีนยามีอุลอูลูมซาลาฟันวาคอลาฟันลิลมุสลิมีน (สายศาสนา) บางอ้อธนบุรี โดยอาจารย์อับดุลเลาะห์สอน มูฮำหมัดฮูเซ็น
– ศึกษาด้านศาสนาภาคพิเศษกับอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรี ณ ตรอกโรงภาษี เก่า ยานนาวา กรุงเทพมหานคร
– ศึกษาด้านศาสนาต่อในต่างประเทศ ณ นครมักกะห์ ราชอาณาจักซาอุดิอาระเบีย ในภาควิชาตัฟซีร (การอธิบายความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน) วิชานาฮู (ไวยกรณ์ภาษาอาหรับ) และวิชา ฟิกฮ์ (ศาสนบัญญัติ) โดยบรรดาคณาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถ อาทิ อาจารย์มูฮำหมัดฮูเซ็น อัลมาลีกี อาจารย์อัลดุลกอเดร อัลมันดีล และอาจารย์ มูฮำหมัดนอร์ ซึ่งต่อมาท่านผู้นี้ได้ดำรงตำแหน่งมุฟตี (ผู้ชี้ขาดปัญหาศาสนา) แห่งรัฐกาลันตัน ประเทศมาเลเซีย
– ได้ศึกษาตำรา ญัมอุลญาวาเมียะอ์ กับ อาจารย์ประดอแอ
– ได้ศึกษาวิชาการศาสนากับอาจารย์มุสตอฟาการีมี บิดาของนายแช่ม พรมยงค์ อดีดจุฬาราชมนตรี รวมเวลาที่ใช้ศึกษาด้านศาสนาทั้งในประเทศไทยและนครมักกะห์ ทั้งสิ้นประมาณ ๑๗
ประวัติการทำงาน (อดีต)
ฯพณฯ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในด้านวิชาการศาสนา ภาษาอาหรับ และภาษามลายู (ยาวี) เป็นอย่างดี จึงทำให้เป็นที่ยอมรับในสังคมทั้งภาคสามัญและศาสนา ทำให้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ หลายตำแหน่งทั้งด้านศาสนา สังคม และการเมือง ดังนี้
๑) ด้านศาสนา
– กรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดพระนคร (ในขณะนั้นยังไม่รวมกับจังหวัดธนบุรี)
– กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ติดต่อกัน ๓ สมัย
๑) สมัยจุฬาราชมนตรี นายแช่ม พรมยงค์
๒) สมัยจุฬาราชมนตรี นายต่วน สุวรรณศาสน์
๓) สมัยจุฬาราชมนตรี นายประเสริฐ มะหะหมัด
– ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะธรรมทูตอิสลาม โดยกระทรวงศึกษาธิการ
– เป็นอะมีรุลฮัจย์ (หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ) ของบรรดาผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครมักกะห์ แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย
– เป็นตัวแทนผู้ตัดสินการประกวดการอ่านพระมาคัมภีร์อัลกุรอานระหว่างประเทศ ในนามของประเทศไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย ๓ สมัย
– เป็นอาจารย์คนแรกของโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
– เป็นผู้ริเริ่มการกระจายเสียงวิทยุภาคมุสลิม โดยได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากองค์การยูซิส
๒) ด้านสังคมและการเมือง
– พ.ศ. ๒๔๙๓ – ๒๕๐๑ ได้รับการบันจุเป็นอาจารย์สอนระดับมัธยมปลายของโรงเรียนอิสลาม วิทยาลัยแห่งประเทศไทย และได้ลาออกไปสู่วงการเมือง
– เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ กรุงเทพมหานคร ๒ สมัย
– เป็นสมาชิกสภาเทศบาลนคร กรุงเทพมหานคร ๒ สมัย
– เป็นเทศบาลนคร กรุงเทพมหานคร ๒ สมัย (เทศมนตรี ฝ่ายการศึกษาและเทศมนตรี ฝ่ายการสาธรณสุข
– เป็นรองประธานเทศบาลนคร กรุงเทพมหานคร ๒ สมัย
– อาจารย์พิเศษโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ
– ได้รับเชิญเป็นวิทยากร ณ กระทรวงศึกษาธิการ
– ได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายเกี่ยวกับสงครามจิตวิทยา ณ กรมประมวลราชการแผ่นดิน
– เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนของประเทศไทยในการประชุมประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามภาคพื้นเอเชียและแอฟริกา ณ กรุงการาจี ประเทศปากีสถาน
ปัจจุบัน
ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี โดยได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะและด้วยความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ จนบังเกิดผลประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมและประเทศชาติเป็นอเนกประการ นอกจากนี้ท่านยังได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิเช่น
– ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
– นักวิชาการด้านศาสนาอิสลาม โดยเป็นที่ปรึกษาทั่งไปด้านศาสนา
– เป็นผู้บรรยายภาควิชาการศาสนาอิสลามตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อาทิ สำนักอัลญุมัลอิสลาม (ต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรี) โรงเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนียะห์ (ดร.ประเสริฐ มะหะหมัด อดีตจุฬาราชมนตรี) โรงเรียนนูรุ้ลอิสลาม (สุเหร่าเขียว นนทบุรี) และอาจารย์สอนพิเศษนักศึกษาผู้ใหญ่ ณ โรงเรียนตะลีมุดดีนียะห์ แขวง/เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร
ผลงานการประพันธ์
ฯพณฯ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านวิชาการศาสนาอิสลาม ผลงานที่สำคัญของท่านที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมุสลิมและประเทศไทย ดังตัวอย่าง คือ
– ทำไมเราต้องดูดวงจันทร์ เป็นหนังสือที่ได้ประพันธ์ขึ้นโดยอ้างอิงถึงหลักฐานที่มีอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและพระวัจนท่านศาสดามุฮัมมัด เพื่อให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมมีความรู้ และมีความเข้าใจในเรื่องของการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม อาทิ กำหนดวันที่ หนึ่งของเดือนอาหรับ โดยเฉพาะการกำหนดวันที่หนึ่งของเดือนรอมฎอนเพื่อถือศีลอด การกำ
หนดวันที่หนึ่งของเดือนซะบานเพื่อเป็นวันอีดิลฟิตร์ และการกำหนดวันที่หนึ่งของเดือนซุลเกาะอ์ดะห์เพื่อการประกอบพิธิฮัจย์ ณ นครมักกะห์และวันอีดิลอัฎาฮาในวันที่ ๑๐ ของเดือนนี้
– ร่วมแปลและอธิบายพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานจากภาษาอาหรับเป็นภาษาไทย ฉบับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
– ร่วมแต่งตำราฟัรฎูอีน (ตำราสอนศาสนาภาคบังคับ) ของสมาคมคุรุสัมพันธ์
เกียรติคุณ
ฯพณฯ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ นอกจากมีความเลิศทางด้านศาสนา ภาษาอาหรับ และภาษามลายูแล้ว ท่านเป็นผู้ที่ได้รับความโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้าให้ได้รับความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ ความสามารถ และสามารถนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่มาปฏิบัติงานในหน้าที่จนเกิดเป็นผลต่อสังคมและประเทศชาติ ท่านเป็นผู้มีความโอบอ้อมอารี จนเป็นที่ยกย่องยอมรับนับถือโดยทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามและตะวันออกกลาง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้
– ประถมมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) พ.ศ. ๒๕๔๗
– ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ชั้นที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๔
– ดิเรกคุณาภรณ์ชั้นที่ ๒ ทุดิยดิเรกคุณาภรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๐
– ปริญญาศิลปะศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาชะรีอะฮ์ (กฎหมายอิสลามสายทั่วไป) พ.ศ. ๒๕๔๐ จากอิสลามวิทยาลัยยะลา
– โล่ประกาศเกียรติคุณพ่อดีเด่น วันพ่อแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๔
จากคุณงามความดี และผลงานที่เด่นชัดเป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน ได้ก่อประโยชน์แก่บ้านเมืองในยามวิกฤติ จนบังเกิดผลดีต่อสังคมและประเทศชาติ เป็นอเนกประการ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงเห็นสมควรขอรับพระราชทานโล่รางวัล “ มหิดลวรานุสรณ์ ” ประจำปี ๒๕๔๗ ให้แก่ ฯพณฯ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี และจัดพิมพ์ประวัติและผลงานเผยแพร่ให้เป็นที่แพร่หลาย เพื่อเป็นตัวอย่างและแบบฉบับอันดีงามของประชาชนและอนุชนต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก www.muslimthai.com