วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2024 เวลา 05 : 18 น.
Masjid News
You are here: Home >> บทความศาสนา >> ความหมายของอิสลาม
ความหมายของอิสลาม

ความหมายของอิสลาม

 

อิสลามแตกต่างกับความศรัทธาชนิดอื่น เริ่มจากที่ชื่อของศาสนานี้ คือ “อิสลาม” ไม่ได้มาจากชื่อผู้ก่อตั้ง เช่น พุทธศาสนาและคริสตศาสนา หรือมาจากชื่อเผ่าพันธ์และเชื้อชาติ เช่น ศาสนายิว หรือเกี่ยวข้องกับแผ่นดิน หรือชื่อของดินแดน เช่น ศาสนาฮินดู
หนังสือหลายเล่มเรียกอิสลามว่า ศาสนาโมหัมมัด (Mohamadanism) คงรับมาจากตำราฝรั่ง หรือเรียกคนมุสลิมว่า พวกโมหัมมัด หรือที่บ้านเราเรีกว่า พวกแขก นี่เป็นความเข้าใจผิด ความสับสนพวกนี้มีอีกหลายเรื่องหลายประเด็น เป็นเหตุให้ลดทอนความหมายที่ถูกต้องอิสลามลงไป และทำให้อิสลามคลาดเคลื่อนไปจากความเข้าใจของบุคคลทั่วไป
ในอิสลามนั้นถือว่าใครที่ยอมรับอัลลอฮฺเป็นผู้สร้าง เป็นผู้เป็นเจ้า สรรพสิ่ง เขาก็สามารถที่จะเป็น “มุสลิม” คนหนึ่งได้ ไม่ว่าคนนั้นจะมีเชื้อชาติใด เผ่าพันธุ์ใหนก็ตาม
ส่วน “อิสลาม” ชื่อที่ใช้เรียกศรัทธานี้ที่ถูกประทานมาจากอัลลอฮฺ ผู้ทรงสร้าง ดังมีปรากฏอยู่ในอัล-กุรอาน คัมภีร์ที่พระองค์ประทานมาว่า “วันนี้ ฉันได้ทำให้ศาสนาของสูเจ้าครบครันสำหรับสูเจ้าแล้ว และได้ให้ความโปรดปรานของฉันครบถ้วนแก่สูเจ้า และฉันได้พึงใจ (เลือก) อิสลาม เป็นศาสนาสำหรับสูเจ้า” (อัล-มาอิดะฮฺ 5:3)

แนวคิดพื้นฐาน

แนวความคิดอิสลามขั้นพื้นฐาน ซึ่งหากถูกละเลยไป ก็จะไม่มีวันเข้าใจอิสลามได้เลย นั่นคือ อิสลามถือว่า สรรพสิ่งทั้งหลายถูกสร้างโดยผู้เป็นเจ้า ซึ่งอิสลามเรียกผู้เป็นเจ้าที่เที่ยงแท้นี้ในภาษาอาหรับว่า อัลลอฮฺ เป็นผู้อภิบาล และผู้ทรงอำนาจสูงสุด และทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินและเป็นไปตามกฎของพระองค์
เบื้องหลังของสรรพสิ่ง จึงมีเจตจำนงหนึ่งบริหารจัดการมัน มีอานาจหนึ่งที่ขับเคลื่อนมัน มีกฎหนึ่งที่คอยกำหนดควบคุมมัน จักรวาลทั้งหมด จึงเป็นสิ่งที่เชื่อฟังต่อเจตจำนงของพระเจ้า ด้วยเหตุจากการเชื่อฟังและการยอมจำนนนี้ ทำให้จักรวาลดำเนินต่อเนื่องไปได้ในรูปแบบที่ประสานกลมกลืนอย่างสันติ เพราะฉะนั้นแนวคิดรากฐานของอิสลามจึงเริ่มจากเอกภาพของผู้เป็นเจ้า นั่นหมายความหมายความว่า สรรพสิ่งและชีวิตต่างๆนั้นมาจากแหล่งกำเนิดเดียว และต่างตกอยู่ภายใต้การบริหารของอำนาจเดียว ดำรงอยู่ท่ามกลางเป็นเอกภาพ ประสานกลมกลืนเข้าด้วยกันอย่างปราณีตงดงามยิ่ง
นี่คือแนวคิดหลัก ซึ่งเป็นแนวคิดที่ก่อขึ้นเป็นความเชื่อ อุดมการณ์ และระบอบอิสลามอื่นๆ ที่ถูกกล่าวไว้ในอัล-กุรอานตลอดทั้งเล่มก็ว่าได้ ดังตัวอย่างปรากฎในอัล-กุรอานว่า
“และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเหล่านั้นไม่เห็นดอกหรือว่า แท้จริงชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนั้นแต่ก่อนนี้รวมติดเป็นอันเดียวกัน แล้วเราได้แยกมันทั้งสองออกจากกัน และเราได้ทำให้ทุกสิ่งมีชีวิตมาจากน้ำ ดังนั้นพวกเขาจะยังไม่ศรัทธาอีกหรือ” (อัลอัมบิยาอฺ 21.30)
“หากในชั้นฟ้าและแผ่นดินมีพระเจ้าหลายองค์ นอกจากอัลลอฮ์แล้ว ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างแน่นอน อัลลอฮ์พระเจ้าแห่งบัลลังก์ทรงบริสุทธิ์จากสิ่งที่พวกเขาเสกสรรปั้นแต่งขึ้น” (อัลญุมุอะฮฺ 21:22)
“พระผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งเจ็ดเป็นชั้น ๆ เจ้าจะไม่เห็นแต่อย่างใดในความไม่ได้สัดส่วนในการสร้างของพระผู้ทรงกรุณาปรานี ดังนั้นเจ้าจงหันกลับมามองดูซิ เจ้าเห็นรอยร้าวหรือช่องโหว่บ้างไหม?” (อัลมุลกฺ 67.3)
ฉะนั้น สรรพสิ่งและชีวิตในอิสลามจึงถูกเน้นถึง “ความกลมกลืน” กันบน “อำนาจเดียว” ทุกสิ่งเดินไปบน “การยอมจำนน” อย่างสิ้นเชิงต่ออำนาจนั้น
“ชั้นฟ้าทั้งเจ็ดและแผ่นดินและที่อยู่ในนั้นสดุดีสรรเสริญแด่พระองค์ และไม่มีสิ่งใดเว้นแต่จะสดุดีด้วยการสรรเสริญพระองค์แต่ว่าพวกเจ้าไม่เข้าใจคำสดุดีของพวกเขาแท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงหนักแน่น ผู้ทรงอภัยเสมอ” (อัลอิสรออ์ 17.44)
“อื่นจากศาสนาของอัลลอฮ์กระนั้นหรือที่พวกเขาแสวงหา? และแด่พระองค์นั้น ผู้ที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลาย และแผ่นดินได้นอบน้อมกัน ทั้งด้วยการสมัครใจ และฝืนใจ และยังพระองค์นั้นพวกเขาจะถูกนำกลับไป” (อัรเราะอฺ13.15)

ความหมายอิสลาม

ภายหลังจากเราได้ทำความเข้าใจแนวคิดหลักของอิสลามแล้ว เราสามารถทำความเข้าใจความหมายของอิสลามได้ทันที เพราะความหมายของคำว่า “อิสลาม” นั่น ผูกติดอยู่กับแนวคิดข้างต้นนั่นเอง เริ่มจากความหมายทางภาษากันก่อน คำว่า “อิสลาม” มาจากรากศัพท์สามอักษร คือ ซีน ลาม มีม หมายถึง
ก) ยอมจำนน ยอมรับ ยอมสยบ ให้แก่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เหนือกว่า ดังนั้นประโยคที่ว่า อัสละละ อัมเราะฮุ อิลา อัลลอฮฺ จึงหมายถึง เขามอบหมายการงานของเขาไปยังอัลลอฮฺ หรือเขายอมรับเจตนารมณ์ของอัลลอฮฺโดยดุษฎี คำว่า อัสสะมะ ตัวเดียวกันนี้ยังหมายถึง เขามอบหมายตัวเขาไปสู่เจตนารมณ์ของอัลลอฮฺ หรือเขาเป็นมุสลิม ก็ได้
ข) ปรองดองกับสิ่งอื่น หรือสร้างสันติภาพ (โปรดดู Hans Wehr, Dictionary of Modern Arabic Written Wiesbadane : Harrassowitz ,1971p. 424-425.)
ถ้าเข้าใจความหมายทางภาษา ก็สามารถเข้าใจความหมายทางหลักการได้ไม่ยาก ความหมายอิสลามทางหลักการนั้นได้รับจากความเข้าใจที่มาจากอัล-กุรอาน อัซ-ซุนนะฮฺ และความเข้าใจอย่างเอกฉันท์ของศิษย์ของท่านนบีฯหรือบรรดาเศาะฮาบะฮฺนั่นเอง นั่นคืออิสลาม หมายถึงการยอมจำนน การอ่อนน้อม และการเชื่อฟัง ดังนั้น อิสลามคือระบอบที่ยืนหยัดอยู่บนหลักการยอมจำนน และเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺ นี้คือสาเหตุที่มันถูกเรียกว่าระบอบหรือแนวทางแห่งอิสลาม
และในอีกด้านหนึ่ง คำว่าอิสลาม คือ “สันติภาพ” หมายถึงผู้ใดต้องการที่จะรับเอาสันติภาพที่แท้จริงทั้งทางภายนอก และทางความรู้สึกได้ ก็มีเพียงแต่โดยวิธีการยอมจำนน และเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺเท่านั้น ตามที่กล่าวนี้ก็คือ ชีวิตที่เชื่อฟังอัลลอฮฺจะนำมาซึ่งสันติภาพของจิตใจ และจะขยายสันติภาพไปสู่ด้านอื่นๆของชีวิตต่อไป
เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดำเนินไปตามเจตนารมณ์ของผู้เป็นเจ้าจึงเรียกได้ว่าได้เข้าสู่ความเป็นอิสลาม หรือเรียกเป็นภาษาอาหรับว่า “มุสลิม” หมายถึง ผู้หรือสิ่งที่ยอมจำนนต่ออัลลอฮฺและเป็นผลให้ผู้หรือสิ่งนั้นดำเนินไปบนแนวทางที่สันติ
กล่าวตามความหมายนี้ก็คือ ทุกสรรพสิ่งเป็นมุสลิม เพราะฉะนั้นการที่มนุษย์คนใดเลือกเป็นมุสลิม ก็คือมนุษย์คนนั้นได้เลือกวิถีทางเดียวกับทุกสรรพสิ่งที่ดำเนินและเคลื่อนไหวไปรอบๆตัวเขานั้นเอง อัล-กุรอานจึงได้เรียกร้องต่อผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺให้เข้าสู่สันติภาพนี้พาตัวเองเข้าสู่สันติภาพทั้งระบอบ
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาจงเข้าสู่สันติภาพทั้งหมด” คำว่าซิลมฺ ที่แปลว่า “สันติภาพ” ในที่นี้หมายถึง อิสลาม หรือการยอมจำนนต่ออัลลอฮฺในทุกแง่ทุกมุมของชีวิต เราจึงสามารถอธิบายได้เช่นกันว่า อิสลาม คือระบอบและแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกประทานจากผู้เป็นเจ้าสู่มุฮัมมัด  ผู้เป็นศาสดาท่านสุดท้าย
อิสลาม คือประมวลในสิ่งที่อัลลอฮฺประทานมาให้ทุกแง่ทุกมุมของชีวิต ไม่ว่าเป็นหลักศรัทธา กฎหมาย การเมือง แนวทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ทั้งหมดนั้นถูกประทานมาเพื่อให้มนุษย์ทั้งหมดยอมรับ ยอมจำนน และปฏิบัติตามนั่นเอง
เพราะฉนั้น อิสลามจึงเป็นระบอบที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตทั้งหมด อิสลามคือการให้คำตอบต่อปัญหาชีวิตทั้งหมดสามประเด็น นั่นคือ เรามาจากไหน? เรามาทำไม? และเราจะไปไหน? คำตอบทั้งสามคำถามนี้อยู่ในเนื้อหาคำสอนทั้งหมดของอิสลาม

 

ที่มา : www.muslimthai.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*